top of page
Search
  • Writer's pictureJELI

โพลผู้นำแรงงานสะท้อนหนึ่งปี ‘หม่อมเต่า’ สอบตก

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล หรือ ‘หม่อมเต่า’ รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อรัฐมนตรีแล้ว หลังจากที่ได้มีการแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าและสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน แต่ยังคงอยู่ในเก้าอี้ รมต. แรงงานต่อเป็นการชั่วคราว และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะเสนอชื่อ ‘ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ขึ้นครองเก้าอี้กระทรวงแรงงานในโควตาพรรคแทน

ในโอกาสเปลี่ยนแปลง ‘ผู้กุมบังเหียน’ ของแรงงานทั่วประเทศ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจึงได้รวบรวมแบบสอบถามจากผู้นำแรงงาน สหภาพ สหพันธ์/ สภาแรงงาน กลุ่มสมาคม กลุ่มย่าน ฯลฯ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมประเมินคะแนนท้ายเทอมของหม่อมเต่าหลังดำรงวาระได้ 1 ปีเศษ (10 กรกฎาคม 2562 – 20 กรกฎาคม 2563) และเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นในตัว ดร.เอนก ว่าที่ รมต. รายต่อไปที่จะต้องรับไม้ต่อในศึกหนักช่วงโรคระบาด เศรษฐกิจถดถอย และมีคนตกงานรออยู่นับล้านคน


สำรวจผลโพล

จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 138 คน มีผู้ตอบแบบประเมินข้อความพึงพอใจต่อการทำงานของหม่อมเต่า 122 คน พบว่าร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งให้คะแนนการทำงานของหม่อมเต่าเพียง 1 ดาว (จากทั้งหมด 10 ดาว) รวมแล้วประมาณ 9 ใน 10 คนให้คะแนนน้อยกว่า 5 ดาว กลุ่มที่ค่อนข้างพึงพอใจกับผลงานของหม่อมเต่าจึงเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กมาก ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เฉลี่ยแล้วหม่อมเต่าได้คะแนนไป 2.8 จาก 10 ดาว





ร้อยละ 42 หรือมากกว่า 2 ใน 5 จากผู้ร่วมทำแบบประเมิน 138 ราย เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และมากกว่าหนึ่งในห้า เป็นสมาชิกกลุ่มหรือชุมชนแรงงาน เป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและคุ้นเคยกับสหภาพแรงงาน สัดส่วนของผู้ตอบที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (42%) พอกับที่ไม่มีสังกัด (40%) ในแง่ของอาชีพ ส่วนใหญ่ทำงานหาเช้ากินค่ำ มากกว่า 3 ใน 4 อยู่ในภาคเอกชน ขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51) เป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ คือทำงานในโรงงานหรือภาคบริการ อีกประมาณเกือบ 1 ใน 4 รับจ้างทั่วไปหรือประกอบอาชีพอิสระ





เมื่อให้ผู้ประเมินผลเป็นผ่านกับตก ผลการประเมินของหม่อมเต่าดูจะแย่ลงไปอีก คือ ผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 คน (ร้อยละ 70) ให้หม่อมเต่าสอบตก ไม่ถึง 1 ใน 10 คน (ร้อยละ 8) ที่ให้สอบผ่านแบบคาบเส้น และมีเพียงส่วนน้อยมาก (ร้อยละ 5) ที่ให้ผ่าน



ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ มีผู้ตอบแบบสอบ 2 คน “ไม่รู้จัก” หม่อมเต่า และ 1 คน “ไล่ออก” จากตำแหน่ง อีก 1 คนตอบว่าไม่มีคะแนนให้สักคะแนนเดียว สะท้อนความไร้ผลงานของหม่อมเต่า


คุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์สำคัญที่สุดที่ผู้ตอบแบบสอบถามใช้ในการประเมินหม่อมเต่า (ว่าสอบตก) คือ ผลงานการแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน (ร้อยละ 78) รองลงมาคือ ทัศนคติของตัว รมต. ต่อผู้ใช้แรงงาน (ร้อยละ 53) และความเข้าใจปัญหาของคนจน (ร้อยละ 47)




หรือพูดอีกอย่างว่า หม่อมเต่าสอบตก เพราะไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน และมีทัศนคติที่มีปัญหาต่อผู้ใช้แรงงาน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่ง (ร้อยละ 5) ให้ข้อมูลว่าไม่ทราบผลงานหรือไม่รู้จักหม่อมเต่าเลย

สำหรับคุณสมบัติของรมต.แรงงานที่ผู้ตอบแบบสอบถามปรารถนาเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาของแรงงาน (ที่มีผู้ตอบว่าสำคัญที่สุดถึง 4 ใน 5 คน หรือร้อยละ 79) รองลงมาคือ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชน (ที่มีผู้ตอบว่าสำคัญที่สุด ถึงร้อยละ 77) และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายแรงงาน (ร้อยละ 68)


เมื่อถามไปถึงว่าที่ รมต. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แรงงานและประชาชนผู้ตอบแบบประเมินระบุว่า ให้คะแนนความเชื่อมั่นแก่ ดร.เอนกเพียง 2.1 ดาว หรือต่ำกว่าหม่อมเต่าเสียอีก และมากกว่า 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 63) ตอบว่า ดร.เอนกไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็น รมต.แรงงาน โดยประมาณร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสอบถามข้อนี้ เห็นว่า “ไม่เหมาะสม” ส่วนที่เหลืออีกมากกว่าครึ่งของกลุ่มนี้หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (ร้อยละ 35) ตอบว่า ดร.เอนก “ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ที่จะเป็น รมต.แรงงาน




สำหรับคำอธิบายว่าทำไม ดร.เอนกจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นรมต. มาจากสองเรื่องหลัก คือ ดร.เอนกไม่มีความเข้าใจด้านแรงงาน ไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงแรงงาน และผู้ตอบไม่พอใจในกระบวนการจัดสรรตำแหน่งที่มาจากโควต้าพรรคการเมืองและไม่เคารพเสียงของประชาชน บางรายวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดทางการเมืองที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายไว้ว่า ดร.เอนก “ขวาตกขอบ ทุนนิยมสุดขั้ว ไม่เคยเห็นหัวคนงาน” หรือ “แนวคิดทางการเมืองไม่เป็นกลาง อาจมีการตัดสินใจเลือกข้าง ทำให้เกิดความขัดแย้งได้”


ทั้งนี้ มีเพียงหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น ที่เห็นว่า ดร.เอนกมีความเหมาะสม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่มีผู้ตอบอธิบายเสริม อาจพอประเมินได้ว่ามาจากสาเหตุที่ ดร.เอนกเป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการ จากความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามบางรายยังแสดงความหวังว่า ดร.เอนกเป็นู้มีความรู้ น่าจะเข้าใจปัญหาของคนงาน เช่น “อาจมีวิสัยทัศย์กว้างไกล” หรือ “ดีกว่าหม่อมเต่า” หรือ “มีความรู้เชิงวิชาการและดูข้อมูลปัญหาของด้านแรงงาน ควรรับฟังความคิดเห็นคนงานและนักธุรกิจทุกด้าน นำมาพัฒนาเชิงนโยบาย เป็นบุคคลที่เปิดใจกว้างรับฟังปัญหา” รวมไปถึงความคิดเห็นแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ภายใต้การเมืองแบบโควต้าพรรค การแบ่งเค้กของพรรคการเมืองต่างๆ ตอนนี้ (ดร.เอนก) น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรคการเมืองนี้แล้ว อย่างน้อยประสบการณ์และบทบาทในช่วงทำงานกับฝ่ายก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาฯ 16 น่าจะพอตั้งความหวังได้บ้างเล็กน้อยกับการทำงานและฟังเสียงของผู้ใช้แรงงาน อย่างน้อยก็คงดีกว่าคนเดิม”


มีข้อสังเกตที่สำคัญมากคือ มีผู้ไม่ตอบแบบสอบถามข้อนี้สูงมาก จำนวนถึงร้อยละ 28 ของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับจำนวนผู้ที่ตอบว่า “เหมาะสม” สาเหตุน่าจะมาจากที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่ง อธิบายเพิ่มเติมในข้อต่อมาว่าอยากลองให้โอกาสในการทำงาน หรือยังไม่รู้จัก ดร.เอนกมากพอที่จะตัดสินใจได้


*หมายเหตุ: จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 138 คน มีส่วนร่วมในการตอบคำตอบประเมินความพึงพอใจของหม่อมเต่า 122 คน และประเมินผลการสอบของหม่อมเต่า 135 คน แต่ประเมินความเหมาะสมของ ดร.เอนกเพียง 108 คน


ย้อนดูผลงานหม่อมเต่า

ตลอด 1 ปีเศษของการดำรงวาระ อาจพอนับผลงานที่เด่นชัดของกระทรวงแรงงานภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้ดังนี้

  • ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาททั่วประเทศ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงแรงงานของ หม่อมเต่า ในขณะนั้นพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลได้เสนอนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ในทีแรกหม่อมเต่ารับปากว่า การขึ้นค่าแรงในอัตราดังกล่าวถือว่าไม่มาก แต่ต้องรอพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากทำได้จริงก็จะเป็นการขึ้นค่าแรงแก่คนงานราวร้อยละ 20 จากคนงานทั่วประเทศ


เมื่อเวลาผ่านไป มติการขึ้นค่าแรงก็ถูกเลื่อนชะลอไปเรื่อยๆ ในเดือนพฤศจิกายน ฝ่ายลูกจ้างทวงสัญญาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ณ ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางชุดที่ 20 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหน่วยงานธุรกิจเอกชนถึงสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและความกังวลว่าค่าครองชีพอาจสูงขึ้น สุดท้ายที่ประชุมมีมติสรุปตัวเลขการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2-10 บาท แต่จะปรับขึ้นเป็นอัตราเท่าใดนั้นจะขอเลื่อนไปพิจารณาครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม


วันที่ 6 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-6 บาท ตั้งแต่ 325-336 บาท ลดหลั่นกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยจะประกาศใช้ให้ทันวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2563 ตามที่หม่อมเต่าให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่พี่น้องแรงงาน” ตามคำขวัญที่ว่า “พี่น้องแรงงานไทย สุขใจถ้วนหน้ากับของขวัญปีใหม่ 2563” มากกว่าคำว่าให้ ด้วยรักจากใจกระทรวงแรงงาน


  • ชี้แจงสถานการณ์สหรัฐตัด GSP ไทย

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐประกาศว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) กับสินค้าไทย 573 รายการ คิดเป็นมูลราคา 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 40,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน ปีถัดไป โดยอ้างว่า “ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลได้” เช่น สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสิทธิในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม


วันที่ 27 ตุลาคม 2562 หม่อมเต่าในฐานะ รมต. ระทรวงแรงงานออกมาตอบโต้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างเสมาอภาคเท่าเทียมกัน โดยได้ให้การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงได้ยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานประมง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562


หม่อมเต่ากล่าวว่า กระทรวงแรงงานยังกำลังพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิแรงงานการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองกับนายจ้าง


อย่างไรก็ตาม หม่อมเต่าได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่สหรัฐต้องการให้แรงงานข้ามชาติในไทยสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้นั้นยังทำไม่ได้ เป็นเพราะ “...ถ้าให้ตั้งแรงงานต่างด้าวเป็นสหภาพแรงงาน เราก็เหนื่อย คนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วแบบนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้กระทั่งกรณีสหภาพแรงงานที่เป็นคนไทยก็ยังทะเลาะกันเอง และอยู่ดีๆจะมีต่างชาติล้านคนมาเป็นสหภาพกลุ่มใหญ่ซึ่งเราผลักดันให้ไม่ได้…”


“เวลานี้เราให้คนต่างด้าวด้อยกว่าคนไทย เพราะหากให้คนไทยเท่ากับต่างด้าวอย่างนี้ ก็จะยุ่ง กระบวนการของประเทศไทยไม่ได้มาอย่างนั้น เราไม่ได้เป็นประเทศที่เสรีภาพมากมาย กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน”

หม่อมเต่ากล่าวสรุป


*หมายเหตุ: สถาบันแรงงานฯ ได้สอบถามกลับไปยังองค์กรภาคีที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ MAP Foundation ถึงการทำงานของหม่อมเต่าในสายตาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ได้รับคำตอบว่า “ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้จัก” ทั้งหม่อมเต่าและ ดร.เอนก


  • จ่ายเงินประกันสังคมเยียวยา Covid-19

ในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่หลายธุรกิจจำต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ไม่เข้าเกณฑ์โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่จะได้รับเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ก็ฝากความหวังเอาไว้ที่กองทุนประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน แต่ก็ต้องพบว่าในความเดือดร้อน การบรรเทาทุกข์กลับมาถึงล่าช้าด้วยต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 หม่อมเต่าออกมายอมรับว่าที่กระบวนการจ่ายเงินล่าช้าเป็นเพราะคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นระบบออนไลน์ สวนทางกับ 1 ในนโยบายสำคัญ 10 ข้อที่กระทรวงแรงงานเคยตั้งเป้าเมื่อต้นปีไว้ว่าต้องดำเนินการต่อเนื่อง ว่าด้วย “การยกระดับการให้บริการประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายช่องทาง

แม้หม่อมเต่า ในนามกระทรวงแรงงาน จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจ่ายเพิ่มเงินประกันสังคมกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 62% เป็น 75% นั้น บอร์ดประกันสังคมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะเป็นการฉกฉวยเอาเงินส่วนที่ควรเก็บไว้บำนาญมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยอรุณี ศรีโต กรรมการบอร์ดประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง เสนอว่าหากกระทรวงแรงานอยากให้มีการเพิ่มเงินชดเชยเป็น 75% ก็ควรทำเรื่องของบจากรัฐบาลเพื่อมาเสริมจากเงิน 62% ที่ประกันสังคมมีมติจ่ายไปแล้วแทน


ใครคือเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวเต็ง รมต. กระทรวงแรงงานคนใหม่

ดร.เอนกมีชื่อเป็นตัวเต็งเจ้ากระทรวงแรงงานคนใหม่ หลังจากที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง รมต. ในภายหลัง) ทำให้พรรครวมพลังประชาชาติไทยเสนอชื่อ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีคนใหม่ โดยอ้างโควตาของพรรคเอง


ดร.เอนกมีบทบาททางการเมืองหลังจากออกจากแวดวงทางวิชาการ ด้วยการเป็นที่ปรึกษาให้กับมารุต บุญนาค ประธานสภาสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาออกมาตั้งพรรคมหาชนร่วมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ลงสมัครเลือกตั้งในปี 2548 แต่พรรคไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนั้น


หลังจากนั้น ดร.เอนก กลับเข้าสู่แวดวงวิชาการอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยรังสิต เขายังเขียนผลงานต่าง ๆ ออกมาอย่างเรื่อย ๆ นับจากสองนคราประชาธิปไตย (2537) ที่เสนอประเด็นสำคัญว่าชนชั้นกลางในเมืองคือพลังก้าวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยไทย จนถึง บูรพาภิวัฒน์ (2554) ที่เสนอการโผล่ขึ้นมาขงการพัฒนาจากประเทศฝั่งตะวันออกของเปลือกโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำ


อาจพูดได้ว่า ดร.เอนกเป็นนักวิชาการมีชื่อ ที่ไม่เคยมีผลงานหรือประสบการณ์ร่วมใดๆ กับเหล่าพี่น้องแรงงานมาก่อน ที่ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็นผลงานเขียน เรื่อง “มองเศรษฐกิจการเมืองไทยผ่านการเคลื่อนไหวของสมาคมธุรกิจ” ที่ศึกษาบทบาทของสมาคมธุรกิจ จนพัฒนาขึ้นมาเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของโครงการประชารัฐสามัคคี


และแม้ว่า ดร.เอนกจะไม่เคยดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญมาก่อน แต่จากการมีบทบาททางการเมืองในช่วงหลังร่วมกับขบวนการ กปปส. จนกระทั่งเปลี่ยนยี่ห้อมาสู่พรรครวมพลังประชาชาติไทย เขาจึงได้รับมติจากคณะกรรมการบริหารพรรคชูขึ้นเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีในเวลาอันใกล้นี้


ดูเหมือนว่าตำแหน่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวพันกับปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานในไทยหลายล้านคนยังคงไม่ได้มาจากเจตจำนงของแรงงาน หากแต่เป็นเรื่องของเกมการเมืองเรื่องการต่อรองตำแหน่ง น่าสนใจว่าหากเอนกขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีจริง สถานการณ์แรงงานไทยจะดีขึ้นหรือเลวลงไปในทิศทางใด เรื่องนี้คงรอให้พี่น้องแรงงานเป็นคนตอบเอง

‘รัฐมนตรีแรงงาน’ ที่แรงงานอยากเลือกมาดำรงตำแหน่ง


ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา ตำแหน่ง รมต.แรงงานมีความสัมพันธ์ยึดโยงกับปัญหาของคนงาน ความต้องการที่แท้จริง และการมีส่วนร่วมจากภาคแรงงานค่อนข้างน้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแรงงานหาเช้ากินค่ำจะตัดตัวเองออกจากโลกการเมือง โดยเฉพาะโลกการเมืองในส่วนของผู้ที่จะมานั่งเป็น รมต.แรงงาน ผู้กุมบังเหียนนโยบายตัดสินปากท้องของตนตลอดการดำรงวาระ


ชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” อดีต รมต.กระทรวงคมนาคม คือชื่อที่ผู้ตอบแบบประเมินบางรายเสนอขึ้นมาเป็น ‘รมต.ในฝัน’ ที่ตนอยากเลือกมาดำรงตำแหน่งมากที่สุด ด้วยเหตุผลว่าเป็น “คนจริง ทำงานจริง เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์” และ “เข้าใจปัญหาแรงงาน น่าจะทำให้แรงงานหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ ทั้งที่เรา (คนงาน) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่รอด” นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอชื่อ “วรรณวิภา ไม้สน” ส.ส. พรรคก้าวไกล เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ด้วยเหตุผลว่า “เป็นผู้ใช้แรงงานที่โดนกดขี่ตัวจริง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ย่อมเข้าใจปัญหาของชนชั้นแรงงานและสตรีเป็นอย่างดี” และยังมีชื่อนักการเมืองอื่นๆ เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมต.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย, เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, มาร์ค พิทบูล อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยศิวิไลย์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, สุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส. แบบแบ่งเขตพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเสนอชื่ออย่างไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจปัญหาแรงงาน สามารถเข้าถึงตัวคนงานได้โดยที่คนงานไม่จำเป็นต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือเอง

ในโลกของแบบประเมินที่แรงงานสามารถกำหนดคุณสมบัติและตัวเก็งผู้จะมาดำรงตำแหน่งต่อจากหม่อมเต่าได้ตามใจเลือก ผู้ตอบแบบสอบถามได้ฝากความคาดหวังต่อผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้คนต่อไปไว้หลากหลาย ซึ่งสถาบันแรงงานฯ สรุปใจความได้ว่า ปัญหาของแรงงานจะต้องได้รับการแก้ไข เสียงของคนงานต้องได้รับการได้ยิน รวมทั้งต้องเข้าใจ มีความรู้ มีประสบการณ์ที่จะแก้ไขทุกข์ที่แรงงานเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าแรง สวัสดิการ ประกันสังคม และอื่นๆ


ข้อมูลอ้างอิง


https://www.prachachat.net/economy/news-392398

https://www.prachachat.net/general/news-398772

https://workpointtoday.com/ministry-of-labour/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/857600

http://www.voicetv.co.th/read/uLouqInfs0

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848477

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%8จำนวน 0%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/125848


125 views0 comments
bottom of page