JELI
คำสั่งศาลสูงรัฐแคลิฟอร์เนีย: "บริษัทแพลตฟอร์มต้องเคารพสถานะคนงาน"
12 สิงหาคม 2563
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
คำตัดสินเบื้องต้นของศาลสูงในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการตอกย้ำแนวบรรทัดฐานให้กับการจ้างงานแรงงานโดยบริษัทแพลตฟอร์มอย่างอูเบอร์ว่า “บริษัทไม่สามารถกำหนดสถานะของคนทำงานเป็นผู้รับงานอิสระอีกต่อไป”

ลอเรน่า กอนซาเลส สมาชิกสภารัฐแคลิฟอร์เนียจากเมืองซาน ดิเอโก พูดในการรณรงค์ เดือนสิงหาคม 2562 (ที่มาภาพ https://www.seattletimes.com/business/california-sues-uber-lyft-over-alleged-labor-law-violations/)
คดีนี้ถือเป็นกรณีศึกษา ที่ฝ่ายต่างๆ ในสหรัฐฯ ทั้งธุรกิจแพลตฟอร์ม ฝ่ายแรงงานและนักวิชาการ ต่างเฝ้าจับตามองว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร ขณะที่แคลิฟอร์เนียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของบริษัทแพลตฟอร์มที่เสนอบริการรับส่งผู้โดยสาร อย่างบริษัทอูเบอร์และลิฟต์ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของทั้งสองบริษัท นักวิชาการและฝ่านแรงงานคาดหวังว่าคำตัดสินนี้จะมีผลอย่างมากในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊กของสหรัฐ
การประกาศคำสั่งเบื้องต้น (primary injunction) โดยผู้พิพากษาศาลสูงในบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา จึงถือเป็นคำตัดสินประวัติศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับฝ่ายนักปกป้องสิทธิ์แรงงานที่รณรงค์เรื่องสถานะแรงงานของคนงานกิ๊กในสหรัฐ
แน่นอนว่าคำตัดสินดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุด เพราะกฎหมายยังเปิดช่องให้บริษัทแพลตฟอร์มอย่างอูเบอร์และลิฟต์เองอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวได้ภายใน 10 วัน (และบริษัททั้งสองประกาศที่จะต่อสู้กับคำตัดสินดังกล่าว) ในอดีต ทั้งอูเบอร์และลิฟต์ต่อสู้กับกฎหมาย AB5 ดังกล่าว ตั้งแต่ล็อบบี้เพื่อไม่ให้กฎหมายถูกบังคับใช้ รวมถึงทุ่มงบประมาณมหาศาลในการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนผู้สมัครที่มีแนวทางต่อต้านกฎหมายนี้
ภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ อูเบอร์พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบของแอ็ปพลิเคชั่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าบริษัทได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อทำให้สภาพการจ้างงานของคนงานดีขึ้น เช่น ให้ข้อมูลการเดินทางกับคนทำงานมากขึ้น เปิดโอกาสให้ปฏิเสธงานโดยไม่ถูกลงโทษ และที่สำคัญ ในประเด็นเรื่องอำนาจของคนทำงานนั้น อูเบอร์เพิ่มทางเลือกให้คนขับรถสามารถกำหนดค่าตอบแทนของตัวเองได้ทางอ้อม โดยเพิ่มระบบการประมูลค่าตอบแทน ที่อูเบอร์กำหนดอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำให้คนทำงานแข่งขันกันประมูลจนกระทั่งค่าแรงเพิ่มขึ้นได้จนถึง 5 เท่าของอัตราขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง แอ็ปพลิเคชั่นของบริษัทยังคงทำหน้าที่ควบคุมและตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการจับคู่ผู้โดยสารให้กับคนขับรถที่เสนอค่าแรงต่ำสุดก่อนอยู่ดี
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ถือโอกาสนี้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีที่รัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องบริษัทอูเบอร์และลิฟต์ รวมทั้งหลักการของกฎหมายแรงงานของรัฐแคลิฟอร์เนียฉบับที่มีชื่อเรียกว่า California Assembly Bill 5 หรือ AB5
ที่มาของการฟ้องร้องและคำตัดสินนี้
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัยการของรัฐและอัยการของ 3 เมืองใหญ่ของแคลิฟอร์เนีย ได้แก่ ลอส แองเจลิส, ซานฟรานซิสโกและซาน ดิเอโก้ ร่วมกันฟ้องร้องบริษัทแพลตฟอร์ม 2 บริษัทคือ อูเบอร์และลิฟต์ว่าจัดชั้นของคนขับรถผิดประเภท (misclassification of drivers) ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของรัฐ ที่กำหนดให้คนทำงานกลุ่มนี้เป็น “พนักงาน” ของบริษัท โดยอัยการกลุ่มนี้ ฟ้องเรียกร้องค่าจ้างย้อนหลังให้กับคนขับรถของทั้งสองบริษัท รวมทั้งตั้งค่าปรับในการละเมิดทางแพ่งจากบริษัททั้งสอง
รู้จักกับกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกว่า “AB5”
กฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า California Assembly Bill 5 หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า AB5 หรือ กฎหมาย “ฉบับคนงานกิ๊ก” ลงนามโดยผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในเดือนกันยายน ปี 2562 ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา (ในปัจจุบัน รัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ อย่างเช่น รัฐอิลลินอยย์กำลังร่างกฎหมายลักษณะเดียวกับ AB5)
กฎหมายฉบับนี้วางหลักการทดสอบสถานะคนทำงานเอาไว้ 3 ข้อ ที่เรียกกันว่า ABC test ที่กฎหมายใช้ประเมินว่าคนทำงานกับแพลตฟอร์มเป็นพนักงานของบริษัทแพลตฟอร์มหรือไม่ ทั้งนี้ ตามคำอธิบายของเว๊บไซต์หน่วยงานแรงงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย อธิบาย ABC test ว่า “ภายใต้การทดสอบนี้ คนงานถือว่าเป็นพนักงานของบริษัท ไม่ใช่ผู้รับงานหรือผู้ทำสัญญาอิสระ ยกเว้นว่าผู้จ้างได้ทำให้เกิดเงื่อนไข 3 ประการดังนี้
1. คนทำงานนั้นเป็นอิสระจากการควบคุมและการกำกับของผู้จ้างในเรื่องการดำเนินงาน ทั้งที่ปรากฎบนสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรและในทางปฏิบัติ
2. คนทำงานผู้ที่ดำเนินงานให้แก่บริษัทนั้น ไม่ได้อยู่ในธุรกิจเดียวกับบริษัทผู้จ้าง
เช่น การจ้างช่างประปามาซ่อมแซมท่อน้ำของบริษัท ไม่ถือว่าช่างคนดังกล่าวเป็นพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง ขณะที่ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่รับจ้างนำผ้าไปตัดเย็บตามแบบของบริษัทและบริษัทเป็นผู้ขายผ้าดังกล่าว ให้ถือว่างานบริการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของผู้ว่าจ้าง
3. คนทำงานนั้นอยู่ในอาชีพหรือธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของผู้จ้าง
ในการที่บริษัทผู้ว่าจ้างจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นนายจ้างของคนทำงาน บริษัทดังกล่าวต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการดำเนินงานของคนงานนั้นเกิดขึ้นเป็นอิสระอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตนเองเป็นผู้อำนวยให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กฎหมาย AB5 ยกเว้นอาชีพและประเภทของธุรกิจกว่า 50 ประเภท เช่น ขายประกัน อัยการ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรับเหมาอีกหลายประเภท

ที่มาภาพ ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1907315
ลองใช้ ABC test ทดสอบสถานะของคนงานแพลตฟอร์มหรือ "คนงานกิ๊ก" ในประเทศไทย เช่น แกร็บ ไลน์แมน ฟู๊ดแพนด้า
หากเทียบเคียงกับในกรณีของคนขับรถหรือคนส่งอาหารให้กับแพลตฟอร์มในประเทศไทยนั้น ต้องถือว่ากระบวนการทำงานเข้าบททดสอบทั้งสามประการ ได้แก่ 1) ถูกควบคุมและกำกับในกระบวนการทำงานโดยบริษัท 2) อยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเดียวกับของบริษัทแกร็บ และ 3) การดำเนินงานเช่น ขับรถส่งผู้โดยสารหรือส่งอาหาร ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนโดยอิสระหรือเป็นเอกเทศจากการดำเนินงานหลักของบริษัทแกร็บ แต่เกิดขึ้นจากธุรกิจของแกร็บเอง
การยอมรับว่าแรงงานกิ๊กที่ทำงานกับแพลตฟอร์มนั้นเป็นพนักงานที่ได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทแพลตฟอร์ม มีนัยสำคัญมากต่อการคุ้มครองสิทธิของคนทำงานเหล่านี้ ไม่ว่าไรเดอร์ส่งอาหารหรือพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานกับแพลตฟอร์มในปัจจุบัน ตั้งแต่เรื่องที่คนทำงานเหล่านี้จะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิตามกฎหมายแรงงานหากเจ็ยป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมทั้งการประกันทางสังคมที่นายจ้างต้องรับผิดชอบร่วมจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ฯลฯ
แนวคำตัดสินนี้จึงถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะต่อแรงงานกิ๊กในประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น ที่สำคัญ ในขณะที่กฎหมายแรงงานในประเทศไทยยังมีช่องโหว่ที่เปิดให้บริษัทแพลตฟอร์มเอารัดเอาเปรียบคนทำงานนั้น เราหวังว่าหลักการของ AB5 จึงเป็นกรณีศึกษาของกฎหมายที่สามารถนำมาใช้ประกอบการร่างกฎหมายสำหรับคนงานกิ๊กในประเทศไทย
อ้างอิง
รายงาน “รูปแบบใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม (2563)” โดยเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลาลักษณ์, สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย ดาวโหลดได้จาก https://www.justeconomylabor.org/research
https://www.labor.ca.gov/employmentstatus/abctest/
https://www.theverge.com/2020/8/10/21362460/uber-lyft-drivers-employees-california-court-ruling
https://www.investopedia.com/california-assembly-bill-5-ab5-4773201
https://www.theguardian.com/technology/2020/feb/07/uber-ab5-changes-drivers-california