ลำดับเหตุการณ์การประท้วงไลน์แมน

ทำไม เกิดอะไร และ (ยังไม่) จบอย่างไรในการประท้วงของไรเดอร์ไลน์แมน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คือวันแรกที่ไรเดอร์ของบริษัท LINEMAN จากจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมารวมตัวยังอาคาร T-One ถนนสุขุมวิท ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยภายหลังบริษัทประกาศเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนต่อรอบวิ่งของไรเดอร์ต่างจังหวัดลง โดยไรเดอร์สะท้อนว่าที่ผ่านมาบริษัทปรับลดค่ารอบมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง เช่น อยุธยา เดิม 40 บาท เหลือ 35 และ 30 บาทตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง 24 บาท

ปัจจุบัน เชียงใหม่ เดิมได้ค่าตอบแทนต่อรอบ 24 บาท (จาก 38 บาท), ลพบุรีและศรีสะเกษ 22 บาท (จาก 30 บาท) ส่วนชัยนาทและเพชรบูรณ์เหลือ 16 บาท

สำนักข่าว Workpoint Today รายงานว่า ไรเดอร์ต่างจังหวัดได้รับแจ้งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการปรับลดค่ารอบเท่านั้น และไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดการปรับลดครั้งนี้ ทำให้ในเวลาประมาณ 11 โมงของวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกในการปรับลดค่ารอบ สหภาพไรเดอร์จึงรับหน้าที่เป็นผู้ประสานการรวมพลของไรเดอร์ไลน์แมนจากจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี ที่ประกาศเดินทางเข้ากรุงเทพมาชุมนุมกันที่อาคาร T-One ถนนสุขุมวิท สำนักงานใหญ่ของบริษัทไลน์แมน-วงใน

ทั้งนี้ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้ข้อมูลว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไรเดอร์ของบริษัทไลน์แมนออกมาแสดงออกถึงการต่อต้านการปรับลดค่าตอบแทนของบริษัท ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ไรเดอร์ในกรุงเทพก็ชุมนุมเรียกร้องให้บริษัทปรับค่ารอบกลับมาเป็นอัตราเดิม คือ 62 บาท รวมถึงยื่นข้อเสนออื่นๆ ด้วย เช่น ให้บริษัททบทวนนโยบายระงับสัญญาณทำงานของไรเดอร์ที่ไม่เป็นธรรม โดยหลังจากการชุมนุมยืดเยื้อหลายชั่วโมงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม บริษัทตัดสินใจลงมารับหนังสือ และนัดวันรับฟังผลการพิจารณาจากบริษัทในสองวันถัดไป ซึ่งปรากฏว่าบริษัทยืนยันไม่ปรับขึ้นค่ารอบตามข้อเรียกร้อง

#จุดเริ่มต้นการเรียกร้อง

การชุมนุมวันแรกของไรเดอร์ไลน์แมนในต่างจังหวัดเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 13:00 น. ของวันที่ 1 มิ.ย. ตุ้ย (นามสมมติ) ตัวแทนไรเดอร์รายหนึ่งปราศรัยว่า

“บริษัทเอารัดเอาเปรียบคนงานที่ต้องทำงานงกๆ รถต้องใช้ทุกวัน โทรศัพท์ต้องใช้ทุกวัน ก็เสื่อมสภาพทุกวัน แต่รายได้ไม่เพิ่ม อยากให้บริษัทคำนวณดูว่าถ้าไรเดอร์ได้ ร้านได้ บริษัทก็ได้ เติบโตไปด้วยกัน แต่คุณมาบอกว่าขาดทุน ขาดทุนอะไร ไรเดอร์ตากแดดตากลม ขี่รถส่งอาหาร ต้องรับมือกับลูกค้า คุณต้องเห็นใจพวกเราด้วย ไม่ใช่อ้างแต่ขาดทุน อยากให้นายทุนที่ทำงานในห้องแอร์ลองมาวิ่งงานกับผม อย่างอยุธยางานละ 20 กว่าบาท บางงานต้องวิ่ง 30-40 กิโลเมตร ลองมาวิ่งคู่กันดู”

นอกจากนี้ ไรเดอร์จังหวัดอยุธยาและอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประท้วงในกรุงเทพได้ก็ร่วมมือด้วยการไม่กดรับงานเลย ทำให้มีงานคงค้างในระบบจำนวนมาก

เย็นวันที่ 1 ไลน์แมนส่งอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้บริหารฝ่าย Public Affairs ลงมารับฟังข้อเรียกร้อง ซึ่งตัวแทนไรเดอร์ได้พูดเล่าสิ่งที่ต้องการให้บริษัทเร่งแก้ไข ดังนี้

  1. ต้องการค่ารอบราคาเดิม คือ 40 บาทต่อรอบ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ไรเดอร์ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ ได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน โดยขอให้บริษัทคิดค่าตอบแทนเป็นค่ารอบตามปกติ ไม่เอาเงิน incentive *ข้อนี้เป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด
  2. ที่ผ่านมา ไรเดอร์สมัครใหม่จะได้สิทธิพิเศษ คือ มองเห็นงานก่อน (มีโอกาสกดรับงานก่อน) 4 วินาที ทำให้ไรเดอร์เดิมเสียเปรียบ จึงขอให้บริษัทยกเลิกนโยบายนี้
  3. ระบบ GPS ในแอปพลิเคชันไม่ตรงกับระบบ GPS ในกูเกิลแมป
  4. ระยะการรับงานไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากไรเดอร์ที่อยู่ใกล้ร้านอาหารมากกว่ากลับมองไม่เห็นงาน ไรเดอร์ที่อยู่ไกลเมื่อมองเห็นและกดรับงานก็ต้องเดินทางไกลกว่าจะไปถึงร้านอาหาร
  5. ให้บริษัทปรับปรุงการทำงานของแอดมิน หรือ CS ให้สามารถแก้ไขปัญหาของไรเดอร์ได้ ตอบสนองรวดเร็ว พูดจาให้เกียรติไรเดอร์
  6. ปัญหาอื่นๆ เช่น การเคลมอาหารมีขั้นตอนยุ่งยาก ขอให้อำนวยความสะดวก

อิสริยะรับปากว่า บริษัทขอบคุณที่สะท้อนปัญหาให้ฟัง ขณะนี้รับทราบปัญหาของไรเดอร์แล้ว และจะเรียนให้ผู้บริหารเป็นผู้ตอบข้อเรียกร้องโดยตรงภายในวันพรุ่งนี้บ่ายที่หน้าเพจ LINEMAN Official ส่วนตนไม่มีอำนาจดูแลไรเดอร์โดยตรง จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้บริหารจะตอบสนองอย่างไร แต่ไรเดอร์ขอต่อรองให้ผู้บริหารตอบข้อเรียกร้องทันทีภายในวันนั้น ซึ่งอิสริยะก็รับปาก หลังจากนั้นไรเดอร์จึงสลายการชุมนุม

แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้หยุดลงเท่านั้น ปรากฏว่าหน้าเพจและกล่องข้อความสหภาพไรเดอร์เต็มไปด้วยคอมเมนต์จำนวนมากที่แจ้งข่าวมาว่า ที่จังหวัดอื่นๆ ก็จัดการชุมนุมประท้วงคู่ขนานกันไปเช่นกัน เช่น เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครพนม พิจิตร พิษณุโลก ศรีสะเกษ ชลบุรี ภูเก็ต ตาก เพชรบูรณ์ ชัยนาท ปัตตานี ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช นครราชสีมา โดยทยอยกันจัดตั้งแต่วันที่ 1 ยาวไปจนถึงวันที่ 3 บางจังหวัดจัดการชุมนุมมากกว่า 1 ครั้ง เช่น อยุธยา และหลายจังหวัดใช้วิธีจัดชุมนุมควบคู่ไปกับการพร้อมใจกันไม่กดรับงาน

#ชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

ภายหลังสลายการชุมนุมวันที่ 1 มิ.ย. บริษัทได้ตอบผ่านเพจทางการ LINE MAN Rider เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เวลาประมาณ 16:00 น. โดยชี้แจงข้อเรียกร้องต่างๆ แต่กลับไม่มีการพูดถึงข้อเรียกร้องเรื่องค่ารอบ ที่ไรเดอร์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

สหภาพไรเดอร์ตอบโต้ทันทีด้วยการเชื่อมต่อแกนนำต่างจังหวัดเข้าด้วยกัน สรุปข้อเรียกร้องกลางให้เหลือเพียง 2 ข้อ นั่นคือ การทวงคืนค่ารอบเดิมที่ราคาไม่ต่ำกว่า 40 บาทต่อชิ้นงานทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพที่ปัจจุบันเป็น 50 บาท) และให้บริษัทรับฟังไรเดอร์ที่มีอยู่แล้วก่อนตัดสินใจรับไรเดอร์ใหม่เพื่อลดปัญหาคนล้น-แย่งงาน ประกาศเชิญชวนให้ไรเดอร์ไลน์แมนทุกคนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปสัญลักษณ์ของไลน์แมนบนพื้นหลังสีเขียว พร้อมข้อความ ‘40’ เพื่อสื่อถึงข้อเรียกร้องหลัก

ต่อมา สหภาพไรเดอร์ในฐานะผู้ประสานงานออกโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการชุมนุมอีกครั้ง ณ อาคารเกษรทาวเวอร์ (ก่อนจะย้ายไปเป็นอาคาร T-One ตามเดิม) ในวันที่ 4 มิ.ย. เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่บริษัทไม่ตอบรับ โดยมีไรเดอร์จากอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ฯลฯ เข้าร่วม

การชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 เริ่มต้นในเวลา 12:00 น. เพื่อยืนกรานให้บริษัทตอบสนองข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่

  1. ค่าตอบแทนต่างจังหวัดต้องไม่ต่ำกว่า 40 บาทต่อ 2 กิโลเมตรแรก (ระยะทางที่เกินมาให้บวก 8 บาท/กม. ตามอัตราเดิมของบริษัท)
  2. หากบริษัทต้องการรับไรเดอร์ใหม่มาเพิ่ม จะต้องปรึกษาให้ไรเดอร์เดิมเห็นชอบก่อน เพราะการรับคนเพิ่มมีผลกระทบกับไรเดอร์ทุกคน

เวลาประมาณ 13:40 น. บริษัทยังคงไม่ส่งตัวแทนลงมารับหนังสือ แต่มีการประกาศทางหน้าเพจของบริษัทว่าจะมีการปรับค่าตอบแทนภายหลังเวลา 00:00 น. ในคืนนี้ โดยไม่ระบุว่าจะมีการปรับค่าตอบแทนขึ้นหรือลงเท่าไหร่ ซึ่งไรเดอร์ยังไม่พึงพอใจกับท่าทีของบริษัทเพราะเกรงว่าจะไม่บรรลุข้อเรียกร้อง จึงไม่ยอมสลายตัว

ต่อมาเวลาประมาณ 14:00 น. มีรายงานว่าบริษัทจะขอนัดเจรจากับตัวแทนไรเดอร์อีกครั้ง ไรเดอร์จึงยื่นเงื่อนไขว่าการเจรจาต้องมีการไลฟ์ให้เห็นโดยทั่วกัน แต่บริษัทปฏิเสธ ไรเดอร์จึงรอถึงเวลาประมาณ 15:00 น. และกล่าวว่าหากยังไม่มีตัวแทนบริษัทมารับหนังสือ จะยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดถนนหน้าอาคาร หรือเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแทน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากบริษัท ไรเดอร์จึงเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงานในเวลาประมาณ 16:35 น. แล้วกลับมาปักหลักรอที่อาคาร T-One

เวลาเกือบ 19:00 น. บริษัทยังคงนิ่งเฉย ไรเดอร์บางคนเริ่มนอนรอบริเวณสนามหน้าหน้าอาคาร เช่นเดียวกับมงคล ยางงาม ผู้ประสานงานสหภาพไรเดอร์ที่ประกาศว่าจะนำขบวนไรเดอร์นอนปักหลักที่นี่จนกว่าจะมีการตอบรับจากผู้บริหาร

สถาบันแรงงานฯ พูดคุยกับตัวแทนไรเดอร์จากจังหวัดอยุธยาที่มาร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว พบว่า เต็งหนึ่งและบอย (นามสมมติ) ถูกปรับลดค่าตอบแทนต่อรอบจากเดิม 40 บาท เหลือ 35 บาท ลงมาเหลือ 30 บาทตามลำดับ เมื่อหักค่าธรรมเนียมบริษัท 15% และค่าภาษีเงินได้ (50 ทวิ) 3% แล้วจะเหลือเพียง 24.50 บาท ต่อ 1 ชิ้นงานเท่านั้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาวิ่งและรองานชิ้นนั้นถึง 1 ชม.

ไรเดอร์ระบุว่า

“ค่ารอบของกรุงเทพและต่างจังหวัดต่างกันมาก แต่ค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอรถ ค่าโทรศัพท์ที่เป็นต้นทุนของเราแทบไม่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าบริษัทลดเงินลงติดหนึ่งแล้วเรามาทันที แต่ลดลงหลายครั้ง และครั้งนี้เราไม่ไหวแล้ว อยู่ไม่ได้ เราไม่ได้เรียกร้องเยอะเลย หากเทียบกับค่ารอบปัจจุบันและสิ่งที่เราเรียกร้อง 40 บาทแล้ว เมื่อหักเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ก็เท่ากับเราขอเพิ่มมาเพียง 6 บาทต่อชิ้นงานเท่านั้น”

เวลาประมาณ 20:15 น. ตัวแทนบริษัท (ไม่ทราบชื่อ-ตำแหน่ง) ลงมาเจรจารับข้อเรียกร้องกับไรเดอร์ ได้ความว่าไม่สามารถปรับราคาทุกจังหวัดขึ้นเป็น 40 บาทได้ แต่จะปรับราคารายจังหวัดขึ้นเป็นราคาก่อนที่จะมีการปรับลดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้รับค่ารอบไม่เท่ากันเช่นเดิม จากนั้นบริษัทก็ได้มีการประกาศอัตราค่ารอบใหม่ในแอปพลิเคชันของคนขับเป็นการส่วนตัวตามแต่ละจังหวัด

#เหตุการณ์ยังไม่จบ

ที่ผ่านมา บริษัทใช้เหตุผลว่า ‘ค่าครองชีพต่างจังหวัดถูกกว่ากรุงเทพ ดังนั้นค่าแรงของคนงานต่างจังหวัดย่อมต้องถูกกว่า’ เป็นเหตุผลในการกำหนดค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับไรเดอร์ เนื่องจากมองว่า ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร ฯลฯ ของต่างจังหวัดในปัจจุบันนี้แทบไม่ต่างอะไรกับราคาในกรุงเทพ แต่ค่าแรงยังคงต่างกันมาก

ค่ารอบใหม่ที่ประกาศมาก็ยังไม่สามารถทำให้ไรเดอร์หลายส่วนพึงพอใจได้ ในวันที่ 8 มิ.ย. ไรเดอร์จังหวัดนครพนมซึ่งได้ค่ารอบปัจจุบันที่ 21 บาท จึงได้นัดรวมตัวไม่กดรับงานตั้งแต่เวลา 12:00-13:00 น. เพื่อประท้วงระบบจ่ายงานแบบ ‘ยิงงาน’ ของบริษัท รวมถึงแสดงความไม่พอใจต่อการบีบให้ไรเดอร์พึ่งพารายได้จาก incentive ซึ่งไม่มีความแน่นอน ปรับเปลี่ยนอัตราไปตลอดเวลา แทนที่จะเป็นการพึ่งพารายได้จากค่ารอบที่มีกำหนดราคาแน่นอน

จังหวัดสุพรรณบุรีประกาศนัดรวมตัวอีกครั้งในวันที่ 13 มิ.ย. ส่วนจังหวัดชลบุรีก็มีประกาศขอความร่วมมือไรเดอร์ให้หยุดรับงานพร้อมกันในวันที่ 14 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 17:00-19:00 น. และวันที่ 15 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 17:00-20:00 น. เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทให้ยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องราคาค่ารอบสุทธิต้องไม่ต่ำกว่า 40 บาท รวมถึงนัดยกระดับการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ #ชลบุรีจะไม่ทน ในวันอาทิตย์ที่ 20 มิ.ย. นี้ และล่าสุดก็ได้นัดหยุดรับงานตลอดทั้งวันในวันถัดไป 21 มิ.ย. ด้วย

นอกจากนี้ สหภาพไรเดอร์ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการลดค่ารอบทั้งหมดอาจเป็นผลมาจากโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ของกระทรวงพาณิชย์เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเป็นเจ้าภาพหารือกับบริษัทไลน์แมน และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น รวม 11 บริษัท ให้ช่วยลดราคาค่าอาหารหรือค่าจัดส่งสำหรับประชาชน 1 เดือนเต็ม (หมดเขต 28 ก.พ. 64) โดยไม่มีตัวแทนไรเดอร์เข้าร่วมพูดคุย ทำให้น่าสังเกตว่าบริษัทอาจเรียกคืนต้นทุนที่เสียไปจากโครงการดังกล่าวคืนผ่านการลดค่าตอบแทนของไรเดอร์ จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการการแรงงาน ที่อาคารรัฐสภา เพื่อให้ภาครัฐหามาตรการดูแลไรเดอร์ด้วย (มีนัดหมายติดตามข้อเรียกร้องในวันพุธที่ 23 นี้)

ทั้งนี้ เนื้อความในหนังสือระบุปัญหา 2 ข้อที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาให้ไรเดอร์ ได้แก่

  1. ตรวจสอบผลกระทบของโครงการ “พาณิชย์ลดราคาฯ” ที่มีต่อไรเดอร์ โดยเฉพาะเรื่องการปรับลดค่ารอบที่อาจเป็นผลมาจากโครงการดังกล่าว
  2. บริษัทแพลตฟอร์มเติบโตจากการสร้างเครือข่าย (network) ทำให้บริษัทเลือกที่จะรับคนทำงานอย่างไม่จำกัด แต่งานที่มีให้ในระบบมีจำนวนจำกัด รวมถึงการเปิดรับคนอย่างต่อเนื่องกลายเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของไรเดอร์ที่ทำงานอยู่เดิม จึงขอให้ภาครัฐออกมาตรการจำกัดจำนวนรับไรเดอร์ของแต่ละแพลตฟอร์ม

เขียนโดย
ชนฐิตา ไกรศรีกุล
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม